Skip to main content

เจ้าสัวธนินท์ ย้ำชัดธรรมาภิบาลต้องมา ซีพีทั่วโลกต้องโปร่งใส ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม


เพิ่งมีข่าวใหญ่สะเทือนวงการไปหมาด ๆ ว่า เจ้าสัวซีพีอำลาตำแหน่งประธานบอร์ดซีพีเอฟ เพื่อถ่ายโอนอำนาจบริหารให้ลูกชายรับช่วงไปจัดการกันต่อ วันนี้มีข่าวเขย่าปฐพีซีพีอีกครั้ง เมื่อเจ้าสัวประกาศก้อง ท่ามกลางกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของเครือฯ ว่า ซีพีต้องให้โลกรู้ว่า เรามีธรรมาภิบาล โปร่งใส ซื่อสัตย์ และมีคุณธรรม


“โลกนี้ยิ่งนับวัน ยิ่งโปร่งใส และบริษัทเราหลีกเลี่ยงไม่พ้น ผู้ถือหุ้นของบริษัทมาจากที่ต่าง ๆ ซึ่งต้องการความโปร่งใส แม้เขารู้ว่าเราโปร่งใส แต่เราจะทำอย่างไรให้เขามีหลักฐานไปพูดต่อ หลายบริษัทในเครือฯ ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ก็ต้องโปร่งใส วันนี้ซีพีไประดับโลกแล้ว เรื่องโปร่งใสจะกลับมาอีก เรื่องธรรมาภิบาลสำคัญมาก และเรามีแม่แบบ มีหนังสือแล้ว อยากจะขอร้องทุกท่าน ไม่ใช่เฉพาะผู้นำว่าต้องมาเข้าใจ ใน 6 ข้อ เรื่องความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม ลูกค้าเป็นที่ 1 ของเรา, พนักงานที่ซื่อสัตย์ มีคุณธรรมเป็นที่ 2 (เรามีทีมงานที่ดี มีพนักงานที่ดี ก็จะรักษาลูกค้าที่ดีได้) ทุกท่านมีคู่มือแล้ว ให้ไปพยายามเรียนรู้ บริษัทไม่มีวิญญาณ แต่ซีอีโอเป็นวิญญาณของบริษัทนั้น ๆ ผมขอย้ำนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ชัดว่า เก่งอย่างเดียวไม่พอ ทั่วโลกรู้ว่าเราเก่ง แต่วันนี้เขาต้องการรับรู้ว่า เราซื่อสัตย์ต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่ มีคุณธรรมหรือเปล่า สรุปว่าวันนี้ที่สำคัญที่สุดคือ บริษัทเราต้องมีธรรมาภิบาลให้ทั่วโลกรู้ บริษัทและพนักงานทุกคนต้องมารับรู้ร่วมกันว่า ธรรมาภิบาลสำคัญที่สุด ต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรม” 

เป็นเนื้อความที่คัดลอกมาจากคลิปที่เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวบนเวที Realizing the C.P. Vision ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการให้นโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงทั้งในและต่างประเทศของซีพี (มี subtitle เป็นภาษาจีน)  






เจ้าสัวธนินท์เน้นย้ำอย่างชัดเจน โดยมีคีย์เวิร์ดหลัก ๆ 3 เรื่อง คือ การดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ และมีคุณธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำเป็นต้องมี และเป็นการตอกย้ำว่า ซีพีเอาจริงในเรื่องนี้

[นับตั้งแต่ปี 2545 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ส่งเสริมให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) โดยเสนอหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้แก่บริษัทจดทะเบียน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เพื่อประโยชน์ต่อบริษัท และประโยชน์โดยรวมต่อความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของตลาดทุนไทย]

การประกาศนโยบายของเจ้าสัวซีพี ก็เท่ากับเป็น commitment ของซีพีที่ทุกคนต้องรีบดำเนินการ จุดนี้เองล่ะมั้ง ที่ทำไมในช่วงหลายปีหลังมานี้ ซีพีถึงมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ขององค์การสหประชาชาติ หรือการได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรระดับโลก เช่น การได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีความยั่งยืน DJSI

แต่เมื่อไปค้นดูข้อมูลเก่า ๆ รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของเครือซีพี กลับพบว่า จริง ๆ แล้ว ซีพีไม่ได้เพิ่งเริ่มดำเนินการ เพื่อตอบรับต่อกฏ กติกา มารยาท ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกระแสสังคมโลก แต่ซีพีมองเห็นและวางรากฐานของธุรกิจบนพื้นฐานของเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำหรือเรียกแบบเดียวกับที่คนทั่วไปรู้จัก หากแต่ยึดถือเป็นนโยบายขององค์กร ในรูปแบบที่คนซีพีคุ้นเคยกันดีในชื่อของ ค่านิยมหลัก 6 ประการ ซึ่งประกอบด้วย หลักการสามประโยชน์ (ประโยชน์ของประเทศชาติ ประโยชน์ของประชาชน และประโยชน์ของบริษัท), ความรวดเร็วและมีคุณภาพ, การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย, การยอมรับความเปลี่ยนแปลง, การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ, ความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม (ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักได้ยินทั้งเจ้าสัวธนินท์ และเจ้าสัวศุภชัย ให้สัมภาษณ์สื่ออยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะคนหลังเมื่อถูกถามถึงเรื่องความยั่งยืน)

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา และถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี การขยับตัวแม้เพียงน้อยนิดของยักษ์ใหญ่ สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ฉันใด การดำเนินงานใด ๆ ของซีพี ก็ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้ฉันนั้น เชื่อว่าซีพีคงไม่ได้หยุดปรับเปลี่ยนเพียงเท่านี้ แต่น่ามีอาฟเตอร์ช็อคตามมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของซีพี ที่สังคมกำลังจับตามอง

Comments